ก่อนทำศัลยกรรมหน้าอก ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัด ความเสี่ยง ผลลัพธ์ รวบรวมคำถามที่ไม่เข้าใจ ปรึกษาแพทย์ พูดคุยถึงความคาดหวังหลังการผ่าตัดศัลยกรรมกับแพทย์ สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด
การทำศัลยกรรมหน้าอก ในปัจจุบันมีเทคนิคที่ช่วยในการตรวจ การวางแผนผ่าตัดและในระหว่างการผ่าตัด เช่น การทดลองเสริมด้วยตัวอย่างซิลิโคน (Sizer) การจำลองภาพก่อนผ่าตัด (Photo Simulation) การวัดระดับด้วยเลเซอร์ (Laser Leveling) การผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง (Endoscope) ที่ช่วยให้ผลลัพธ์ในการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ
หน้าอกโดยธรรมชาติจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ในแง่ของรูปทรงหน้าอกนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของวัย การลดน้ำหนัก กรรมพันธุ์ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การทำกิจกรรมที่หักโหมหรือออกกำลังกายโดยไม่ได้ใช้เสื้อผ้าซัพพอร์ต ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ทำให้ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและผิวหนังเปลี่ยนแปลงเป็นสาเหตุของความหย่อนคล้อย ส่วนหน้าอกที่มีขนาดใหญ่เกินไปนั้นมักมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนและพันธุกรรม
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของหน้าอก
- หน้าอกที่มีเนื้อเต้านมมาก หน้าอกจะแน่น หนัก ทำให้มีโอกาสหน้าอกหย่อนได้มากกว่าคนที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบหลักในหน้าอก ซึ่งเนื้อจะนิ่มและเบากว่า
- ขนาดของหน้าอกเดิม ผู้ที่มีหน้าอกขนาดค่อนข้างใหญ่ ในระยะยาวมักจะเกิดการหย่อนคล้อยได้มากกว่าผู้ที่มีหน้าอกขนาดปานกลางหรือขนาดเล็ก
- การออกกำลังกายที่มีการแกว่ง การกระแทก การเคลื่อนที่ขึ้นลงมาก ๆ ร่วมกับการไม่ได้ใส่เสื้อชั้นในที่รองรับได้ดีเพียงพอ ในระยะยาวจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปทรงหน้าอกได้
- การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร
- น้ำหนักตัวมีการเปลี่ยนแปลงมากในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งใจลดน้ำหนักหรือจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ
- อายุที่มากขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง เกิดความหย่อนยาน
- น้ำหนักเกิน มีภาวะโรคอ้วน ทำให้น้ำหนักหน้าอกมาก
- กรรมพันธุ์
ศัลยกรรมยกกระชับหน้าอก (Breast Lift)
หน้าอกที่มีขนาดและรูปทรงที่ไม่สวยงาม หรือ หน้าอกที่หย่อนคล้อย ย่อมส่งผลต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจในรูปร่าง การเข้าสังคม การเลือกเสื้อผ้า การออกกำลังกาย รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดยกกระชับหน้าอก เป็นการผ่าตัดเพื่อปรับรูปทรงหน้าอกที่หย่อนคล้อยให้กลับมาดูดีโดยการตัดหนังส่วนเกินออก จัดแต่งรูปทรง ย้ายหัวนมให้กลับขึ้นมาในตำแหน่งที่เหมาะสม รวมถึงการลดขนาดลานนมให้เล็กลง การผ่าตัดนี้มีเทคนิคที่หลากหลาย เช่น
- การเสริมหน้าอกด้วยเทคนิค Internal lift (Breast augmentation with internal lift)
- การยกกระชับทรวงอก โดยไม่เสริมหน้าอก (Breast lift without Implant)
- การยกกระชับพร้อมเสริมหน้าอก (Breast lift with Implant)
- การดูดและการเติมไขมัน
แพทย์ที่มีประสบการณ์จะสามารถให้คำปรึกษา วิเคราะห์และเลือกวิธีการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เสริมสร้างความมั่นใจให้แก่สาว ๆ
ผู้ที่เหมาะสมกับการทำศัลยกรรม ยกกระชับหน้าอก
- ผู้ที่มีปัญหาหน้าอกหย่อนคล้อย ที่เกิดจากอายุที่มากขึ้น หลังการลดน้ำหนัก หลังคลอด
- ผู้ที่หัวนมอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าปกติ
- คุณแม่ที่มีปัญหาหน้าอกหย่อนคล้อยเนื่องจากให้นมบุตร
- ผู้ที่มีสุขภาพดี มีสุขภาพจิตปกติ มีความคาดหวังผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผล
- มีอายุมากกว่า 20 ปี (หากอายุน้อยกว่า 20 ปี ต้องมีจดหมายยินยอมจากผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามกฎหมาย)
- ผู้ที่ไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น โรคที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (Hemophilia) โรคที่มีความผิดปกติของการหายของแผล (Ehlers-Danlos Syndrome)
- หากต้องการลดน้ำหนัก ควรลดน้ำหนักให้ได้ตามที่ต้องการก่อนที่จะเข้ารับการทำศัลยกรรมเต้านม
ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการศัลยกรรมหน้าอก
การผ่าตัดทุกชนิดมีความเสี่ยงแต่ไม่ใช่ว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับทุกคน แพทย์จะให้คำปรึกษาและประเมินความเสี่ยง ให้โอกาสในการซักถามข้อสงสัย จากนั้นจึงร่วมกันในการตัดสินใจในการผ่าตัด
- ในด้านรอยแผลเป็น หากไม่มีประวัติแผลเป็นประเภทคีลอยด์มาก่อน มักจะได้รับผลลัพธ์ที่เรียบเนียน ซ่อนในตำแหน่งที่เหมาะสม
- ในด้านรูปทรงอาจไม่เป็นไปตามต้องการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แต่แพทย์ที่มีประสบการณ์ จะสามารถให้คำแนะนำและออกแบบการผ่าตัดให้ได้ผลลัพธ์ที่สวยงามตรงตามความต้องการ
- ความเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนในการหายของแผล (Wound complications) และความผิดปกติของหัวนม เช่น การชา (Numbness) หรือหัวนมตายจากการขาดเลือดมาเลี้ยง (Nipple Necrosis) ซึ่งมักพบในคนที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น แต่หากควบคุมอาการได้ดีก็ไม่ใช่ข้อห้ามในการผ่า
การเตรียมตัวก่อนทำศัลยกรรมหน้าอก ยกกระชับหน้าอกและลดขนาดหน้าอก
6 เดือน ก่อนการผ่าตัด
- งดยารักษาสิวชนิดที่มีส่วนผสมของวิตามิน A (Isotretinoin) เพราะอาจมีผลต่อการหายของแผล
3 เดือน ก่อนการผ่าตัด
- เตรียมความพร้อมของร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ตรวจสุขภาพประจำปี หากมีโรคประจำตัว ควรพบแพทย์เพื่อรักษาและควบคุมอาการให้อยู่ในภาวะปกติ
- ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรม (Mammogram) หากมีประวัติเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม
4 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังผ่าตัดอย่างน้อย 4 สัปดาห์
- งดการเจาะ/สักร่างกาย หรืออาบแดด หากมีการเจาะ ใส่ห่วง อยู่แล้วให้ถอดออกเพื่อเช็คและรักษาหากมีการอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการผ่าตัดในช่วงที่ใกล้ หรือ กำลังมีประจำเดือน หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการเลื่อนประจำเดือน
10 วัน ก่อนการผ่าตัด
- งดยาที่มีผลกับการแข็งตัวของเลือด ได้แก่
- ยาละลายลิ่มเลือด เช่น Aspirin, Coumadin, Ticlid, Plavix or Aggrenox. (โปรดปรึกษาแพทย์ประจำตัวถึงความปลอดภัยในการหยุดยา)
- ยาแก้ปวดประเภท Nsaids เช่น Ibuprofen, Advil, Motrin, Nuprin, Aleve, Relafen,Naprosyn, Diclofenac, Naproxen, Voltaren, Daypro, Feldene, Clinoril, Lodine, Indocin, Orudis เป็นต้น
- ยาระงับประสาท ยานอนหลับบางชนิด เช่น Zoloft, Lexapro, Prozac, Pristiq เป็นต้น
- งด วิตามิน อาหารเสริมทุกชนิด ที่อาจมีผลกับการแข็งตัวของเลือด เช่น Multivitamins, Fish oil, Omega3, Co-enzyme Q10, Evening Primrose Oil, Glucosamine, Arnica, Ginseng, Gingko, herbs เป็นต้น
นอกจากคำแนะนำข้างต้นแล้ว ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดขนาดหน้าอก ความเสี่ยง ผลลัพธ์ รวบรวมคำถามที่ไม่เข้าใจ ปรึกษาแพทย์ พูดคุยถึงความคาดหวังหลังการผ่าตัดศัลยกรรมกับแพทย์ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด
ขั้นตอนทำศัลยกรรมยกกระชับหน้าอก
- แพทย์จะให้เวลาในการซักถามและปรึกษาอีกครั้งก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 3-6 ชั่วโมง
- ระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์
- หลังผ่าตัด พักฟื้นในโรงพยาบาล 1-2 คืน
- นัดตรวจติดตามอาการ วันที่ 7 และวันที่ 10 หลังการผ่าตัด 1 เดือน 3 หรือ 6 หลังผ่าตัด
การดูแลตนเองหลังการทำศัลยกรรมหน้าอก
- จะมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณแผลผ่าตัดเล็กน้อย แต่สามารถลุกเดินได้ภายในวันแรกหลังผ่าตัด โดยอาการจะดีขึ้นตามลำดับ
- อาจมีอาการบวมช้ำอยู่ได้นาน 1-3 สัปดาห์ ทำให้เต้านมสองข้างอาจดูแตกต่างกัน ต้องรอให้การบวมช้ำหายไป ประมาณ 1-2 เดือนหลังผ่าตัด
- ความรู้สึกของผิวหนังบริเวณหน้าอกและหัวนมอาจลดลง แต่จะดีขึ้นภายในเวลา 3-6 เดือน
- แผลผ่าตัดมักจะแดงและนูนเล็กน้อยในช่วง 1-3 เดือนแรก และจางลงในเวลา 6-12 เดือน จึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรงเป็นเวลา 3-6 เดือน
- อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเจ็บคอ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงจากการดมยาสลบ
- ทานยาตามแพทย์สั่งเพื่อลดอาการปวดและการติดเชื้อที่ไม่พึงประสงค์
- พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบและรับคำแนะนำจากแพทย์
- หลีกเลี่ยงแสงแดดหรือทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นบริเวณผ่าตัด
- ไม่ยกของหนักและไม่ควรยกแขนสูงในช่วง 7 วันแรก เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบของแผลผ่าตัด
- พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำเพราะอาจส่งผลต่อรูปทรงเต้านมแผลผ่าตัด อาจนอนหนุนหมอนสองสามใบเพื่อให้ศีรษะและลำตัวช่วงบนอยู่สูงเพื่อลดอาการบวม
- ควรพักรักษาตัวที่บ้าน 2 สัปดาห์และสามารถกลับไปทำงานปกติได้หลังจากนั้น
- ในกรณีที่แผลผ่าตัดปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ สามารถอาบน้ำได้ในวันรุ่งขึ้น ยกเว้นบางกรณีแพทย์จะสั่งเป็นายๆไป
- ควรใส่ชั้นในที่ทางโรงพยาบาลเตรียมให้ หรือสวมเสื้อชั้นในแบบ Support Bra ไม่มีโครง อย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ ทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อป้องกันการไหลของเต้านมเทียมไปด้านข้างหรือด้านฐานนม
- ควรงดออกกำลังกายเป็นเวลา 4 สัปดาห์ แต่สามารถเดินเบา ๆ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด จากนั้นจะเมออกกำลังกายเบาๆได้และสามารถออกกำลังกายเต็มที่ได้หลังผ่าตัด 2-3 เดือน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างการพักฟื้น
- ทานอาหารสุขภาพ งดอาหารที่มีโซเดียมสูงเพราะอาจทำให้อาการบวมแย่ลง รับประทานไฟเบอร์และดื่มน้ำมาก ๆ
ศัลยกรรมยกกระชับหน้าอกและลดขนาดหน้าอก สามารถช่วยปรับรูปทรงของหน้าอกให้มีความสมดุล มีรูปทรงที่สวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ เพิ่มความมั่นใจให้คุณผู้หญิงทุกท่าน การผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก แน่นอนแม้จะต้องรับความเสี่ยงเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด แต่สำหรับคุณผู้หญิงแล้ว การผ่าตัดนี้คุ้มค่ามากพอที่จะได้รับความมั่นใจคืนมาได้